
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตนได้ลงทุนเปิดบริษัทใหม่ชื่อ "รักบ้านเกิด" ทำอีมาร์เก็ตเพลซและเสิร์ชเอ็นจิ้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บอีคอมเมิร์ซชื่อดัง "อาลีบาบา" www.alibaba. com แต่เน้นเรื่องอาหารเป็นหลัก เพราะเมืองไทยเปรียบได้กับครัวของโลก มี พืชผล และสินค้าเกษตรที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก แต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาด
โดยจะพัฒนา "แอปพลิเคชั่น" ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนระบบต่าง ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน, แบล็คเบอร์รี่ หรือแอนดรอยด์ โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล และคอนเทนต์ต่าง ๆ จากเว็บไซต์รักบ้านเกิดดอตคอม (www. rakbankerd.com) เครือข่ายวิทยุ ชุมชนร่วมด้วยช่วยกันทั้ง 77 จังหวัด รวมถึงสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นที่มีอยู่เดิม มีกำหนดเปิดตัวเป็นทางการในวันที่ 24 ธ.ค.นี้
"อีมาร์เก็ตเพลซจะต่อระหว่างเว็บ รักบ้านเกิดกับแอปพลิเคชั่นที่กำลังทำ ในแอปจะมีหลายส่วน ถ้าจะวางแผนจ่ายกับข้าวก็เข้าไปดูราคาได้ว่าอะไรเท่าไร ข่าวก็มีจากสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น มีคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์เพลง หนัง สารคดี หรือถ้าจะขายสินค้าก็ได้ เราปรับมาไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพราะไม่ได้ มุ่งไปที่เกษตรกรอย่างเดียว แต่มอง กลุ่มคนใช้สมาร์ทโฟนทั่วไปด้วย โดยจะทำเป็นฟรีแอปให้โหลดได้หมด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าดีแทค เอไอเอส หรือทรูมูฟ"
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่เข้าเว็บไซต์รักบ้านเกิด และกลุ่มคนฟังรายการวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันส่วนใหญ่จะเป็นเกษตร ซึ่งอาจไม่ชำนาญด้านเทคโนโลยี ทั้งในแง่การดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น รวมถึงการโพสต์รูปสินค้าบนเว็บ ดังนั้น ดีเจ.รายการวิทยที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดจึงจะคอย ช่วยดาวน์โหลดแอปให้ และจะเปิด คอลเซ็นเตอร์ 1677
ซึ่งจะต่างไปจากคอลเซ็นเตอร์ทั่วไป เพราะไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เท่านั้น แต่จะพัฒนาเป็น "แอ็กเคานต์ออฟฟิศเซอร์" คอยดูแลสมาชิก
"2 ปีแรกจะเน้นตลาดในประเทศปีที่ 3 จะเริ่มแปลเว็บเป็นภาษาอื่น ๆ เพื่อบุกตลาดต่างประเทศ โมเดลของเราจะคล้ายกับอาลีบาบา คือเป็นเว็บกลางที่ให้คนเข้ามาซื้อขายสินค้า แต่เราไม่เก็บค่าสมาชิก เพราะเราจะทำเสิร์ชเอ็นจิ้นหน้าตาเหมือนกูเกิล แต่เน้นเฉพาะฟู้ดอย่างเดียว รายได้ของเราก็จะมาจากโฆษณาแต่ไม่ใช่แบนเนอร์นะ เป็นการแรงกิ้งเหมือนกูเกิล ถ้ามีคนมาเสิร์ชหาสินค้าแล้วหน้าเพจคุณเด้งขึ้นมาเป็นคนแรกก็ต้องเสียเงินให้เรา ถึงเวลานั้นแสดงว่าคุณขายของได้เยอะแล้ว"
สำหรับบริษัทรักบ้านเกิดที่ตั้งขึ้นใหม่ มีเงินลงทุนเบื้องต้นที่ 300 ล้านบาท เท่ากับช่วงที่ตั้งบริษัทดีแทค โดยบริษัทดังกล่าวตนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และนั่งบริหารธุรกิจด้วยตนเองในฐานะซีอีโอ สาเหตุที่ต้องตั้งบริษัทใหม่ เพราะทุกปีจะต้องมีการเพิ่มทุน ซึ่งเงินลงทุนที่ตั้งไว้ 300 ล้านบาท อาจไม่พอ เพราะต้องลงทุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อเก็บ ข้อมูลเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมือนกรณี เฟซบุ๊กที่มีเซิร์ฟเวอร์เป็นหมื่น ๆ ตัว ถ้าคิดว่าตัวละห้าแสนก็ต้องใช้เงินหลายพันล้านบาทแล้ว
ปัจจุบันนายบุญชัยยังนั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการถือหุ้นของ เทเลนอร์ในดีแทค ซึ่งมีปัญหาถือหุ้นเกินกฎหมายกำหนดว่าอยากให้แยกประเด็นระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท เพราะถ้าผู้ถือหุ้นมีปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวผู้ถือหุ้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทแต่อย่างใด บริษัทเองยังคงดำเนินการประกอบธุรกิจและดูแลลูกค้าได้ตามปกติ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ส่วนของผู้ถือหุ้นเองถ้ามั่นใจว่าทำถูกต้องก็สู้ไป
หากในอนาคตผู้ถือหุ้นจำเป็นต้อง ลดสัดส่วนหุ้นลง หากต้องการให้ตนเข้าไปซื้อหุ้นก็คงต้องบอกว่าคงช่วยเท่าที่ช่วยได้ เพราะตนก็อยากให้บริษัทดำเนินธุรกิจและเติบโตต่อไป เพราะธุรกิจของ ดีแทคให้บริการประชาชน และถ้ายังอยู่ก็จะทำให้ตลาดและการแข่งขันมีความสมดุลมากขึ้น เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่า
"เราต้องยอมรับว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจมือถือในโลกนี้ที่ยังเป็นของแฟมิลี่ไม่มีแล้ว อาจเหลือบ้างในประเทศที่การ แข่งขันยังไม่เปิดเต็มที่ อย่างบ้านเรามี 3 บริษัทดีกว่าเหลือ 2 ไม่ว่าดีแทค เอไอเอส หรือทรู ใครแพ้ไปหรือมีปัญหาก็ไม่ดีกับผู้บริโภค"
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1312606214&grpid=00&catid=06